ปรากฏการณ์เอลนีโญ

el nino 5

ปรากฏการณ์เอลนิโญ

ความหมาย
เอลนิโญ เป็นคำที่มาจากภาษาเปรู หมายถึง บุตรของพระเจ้า ใช้เรียกปรากฏการณ์ของอากาศที่ชาวประมงตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้คุ้นเคยกัน ประมาณช่วงเทศกาลคริสต์มาสของทุกปี ชาวประมงสังเกตว่าพวกเขาสามารถจับปลาได้น้อยลงอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภูมิอากาศตามฤดูกาลเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก โดยการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ไหลตามปกติจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกไหลย้อนกลับ ส่งผลให้อุณหภูมิของพื้นผิวทะเลตั้งแต่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางจนถึงชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้อบอุ่นขึ้น การลอยตัวของมวลน้ำเย็นในเขตศูนย์สูตรซึ่งตามธรรมดาเกิดขึ้นตามแถบชายฝั่งทะเลจะหยุดลง ทำให้สารอาหารไม่สามารถลอยตัวขึ้นจากท้องทะเลได้ กระทบต่อถึงแพลงก์ตอนและปลาต้องอพยพไปหากินที่แถบอื่น จึงทำให้จำนวนปลาลดลง

ปัจจุบัน มีการใช้คำนี้อย่างแพร่หลายเพื่อหมายถึงปรากฏการณ์ของภูมิอากาศที่รุนแรงผิดปกติ และเชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงทั่วโลก โดยปรากฏการณ์เอลนิโญครั้งใหญ่ๆ มักเกิดขึ้นประมาณ 3 ครั้งต่อปี และตามสถิติของปรากฏการณ์ มีวงจรเกิดทุก 2 – 7 ปี ทำให้เกิดผลกระทบต่อภูมิอากาศในบริเวณ 1 ใน 4 ของพื้นผิวโลก จึงมีการคาดหมายว่าปรากฏการณ์นี้มีผลกระทบต่อลมฟ้าอากาศในบริเวณที่เหลือของโลกด้วยเช่นกัน

ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ
ปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นผิวของมหาสมุทรกับบรรยากาศในบริเวณแปซิฟิกเขตร้อนที่เกิดขึ้นซับซ้อนระหว่างมหาสมุทรและบรรยากาศ และบรรยากาศเป็นตัวกำหนดการเกิดและการสิ้นสุดของปรากฏการณ์เอลนีโญ ระบบของปรากฏการณ์เอลนีโญมีการกวัดแกว่งระหว่างสภาพความร้อนและสภาพความเย็นของผิวหน้าน้ำทะเล

el nino 1

เอลนิโญ และระบบภูมิอากาศโลก
ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (the Southern Oscillation) ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญครั้งใหญ่ๆ ที่มีต่อโลกลึกซึ้งขึ้น นักวิทยาศาสตร์ทราบมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษนี้แล้วว่าความกดอากาศเหนือมหาสมุทรอินเดีย (ทางทิศตะวันตก) สูงขึ้น ความกดอากาศเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ทางทิศตะวันออก) จะลดลง กล่าวคือ ถ้าฝ่ายหนึ่งสูง อีกฝ่ายหนึ่งจะต่ำ ความสัมพันธ์แบบ “กระดานหก” เช่นนี้ เรียกว่า ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ ปัจจุบันเราสามารถยืนยันได้ว่าอุณหภูมิของทะเลนอกฝั่งทวีปอเมริกาใต้จะสูงขึ้น เมื่อความกดอากาศเหนือเมืองดาร์วินในออสเตรเลียสูงขึ้น และอุณหภูมิของทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกภาคตะวันออกลดลงเมื่อความกดอากาศเหนือเมืองดาร์วินลดลง ทั้งสองบริเวณนี้เปลี่ยนแปลงตรงกันข้ามกับการขึ้นและลงของความกดอากาศเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกภาคตะวันออก ที่เป็นเช่นนี้เพราะปรากฏการณ์เอลนิโญสัมพันธ์กับรูปแบบภูมิอากาศโลก ทำให้ปรากฏการณ์เอลนิโญสามารถทำลายระบบภูมิอากาศในอีกซีกโลกหนึ่งได้ โดยมีขั้นตอนสำคัญ 4 ขั้นตอน คือ

ขั้นโหมโรง (precursor) เริ่มด้วยการที่รูปแบบของภูมิอากาศมีพลังทวีความรุนแรงขึ้น ความกดอากาศสูงในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น และความกดอากาศในภาคตะวันตกลดลง

ขั้นเริ่มต้น (onset) เกิดขึ้นราวเดือนธันวาคม สภาพที่รุนแรงอย่างผิดปกติเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน อุณหภูมิพื้นผิวทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกภาคตะวันตกลดลงและภาคตะวันออกสูงขึ้น ความกดอากาศเหนืออินโดนีเซียและออสเตรเลียตอนเหนือสูงขึ้นทำให้ปริมาณฝนในมหาสมุทรแปซิฟิกภาคกลางมีมากขึ้นในบริเวณแห้งแล้งตลอดจนแถบชายฝั่งทะเลของเปรู เอกวาดอร์ และชิลี

ขั้นเติบโต (growth) เป็นความต่อเนื่องจากขั้นเริ่มต้น ในขั้นนี้อุณหภูมิพื้นผิวทะเลนอกฝั่งทวีปอเมริกาใต้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งขึ้นสูงสุดในเดือนมิถุนายน น้ำอุ่นจากมหาสมุทรแปซิฟิกภาคตะวันตกที่ไหลไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกภาคตะวันออก ทำให้ระดับน้ำทะเลในภาคตะวันออกสูงขึ้น และผลักดันให้เขตแบ่งอุณหภูมิลึกลงกว่าเดิม

สภาพเช่นนี้จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปีหนึ่งๆ น้ำอุ่นจะถูกพัดข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกจนกระทั่งไหลมาถึงทวีปอเมริกา แล้วแยกกันไปทั้งทางทิศเหนือและทิศใต้ ทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้นทั่วบริเวณตะวันออกตามแนวเขตศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิก ลมจะพัดจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกเรื่อยไป ปริมาณฝนเหนืออินโดนีเซียจะลดลง และจะตกหนักเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกภาคกลางและภาคตะวันออก รวมทั้งเหนือทวีปอเมริกาใต้ที่ตั้งอยู่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

ขั้นเสื่อมสลาย (decay) สภาพข้างต้นจะถึงจุดสูงสุดเป็นเวลาหนึ่งปีหลังจากขั้นเริ่มต้น และต่อจากนั้นลมตะวันตกจะเริ่มอ่อนตัวลง เป็นสัญญาณว่าเริ่มต้นขั้นเสื่อมสลายแล้ว อุณหภูมิพื้นผิวทะเลจะลดลงตามปกติปีครึ่ง หลังจากนั้นภูมิอากาศของมหาสมุทรจะกลับคืนสู่ปกติ ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโญ

el nino 4

ในแต่ละปีภูมิอากาศก่อให้เกิดผลดีและผลเสียตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก แต่ในปีที่มีปรากฏการณ์เอลนิโญทำให้เกิดผลเสียมากกว่าหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นชีวิตมนุษย์ ปศุสัตว์ ตลอดจนความเสียหายของพืชพรรณและสัตว์ต่างๆ ความยากลำบากแผ่ขยายออกไป เช่น มีอุทกภัยและช่วงแล้งผิดปกติเกิดขึ้น การขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มและเกิดโรคท้องร่วงแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจเนื่องจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากไฟป่า

ผลกระทบอย่างอื่นๆ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่จะก่อให้เกิดปัญหาระยะยาวได้ เช่น สมดุลที่บอบบางของระบบนิเวศอาจถูกทำลายไป เมื่อสัตว์และนกตายลงเพราะอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงหรือจำนวนฝนลดลง ทำให้แหล่งอาหารของสัตว์ลดลงไปด้วย คุณภาพของดินก็อาจลดลงได้เนื่องจากการกัดกร่อนของลมและฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่ฝนแล้งผิดปกติซึ่งส่งผลให้ปริมาณพืชผลลดลง และหากการทำเกษตรกรรมไม่ได้ผล ก็จะทำให้เกิดการย้ายถิ่นเข้าสู่เมือง ในแง่เศรษฐกิจ การขนส่งและการสื่อสารที่ยุ่งเหยิงจะทำให้อุตสาหกรรมดำเนินไปได้ไม่ดี ส่งผลให้สินค้าขาดแคลน รายได้ตกต่ำ และสูญเสียตลาดระหว่างประเทศ

นอกจากนั้นผลร้ายที่เกิดจากการทำลายของปรากฏการณ์เอลนิโญ ยังส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรสำหรับโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดช่วงแล้งผิดปกติ หรือช่วงฝนตกหนักในอนาคตซึ่งอาจต้องนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉิน การเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ย่อมเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือมักจะเป็นการป้องกันไม่ให้โครงการต่างๆ ที่กำหนดไว้แล้วสำเร็จลงได้ ทำให้ประชาชนต้องเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่จะมีขึ้นในอนาคต

ตัวอย่างผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโญที่มีต่อระบบนิเวศวิทยา สังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนิโญที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ในขณะที่หลายประเทศ ได้แก่ ชิลี เปรู ออสเตรเลีย อินโดนเซีย และเอกวาดอร์ ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ของภูมิอากาศที่ไม่สามารถทำนายได้ในระหว่างที่มีปรากฏการณ์เอลนิโญแทบทุกครั้ง ประเทศอื่นที่อยู่ไกลออกไปจากมหาสมุทรแปซิฟิกกลับได้รับผลกระทบน้อยมาก ปรากฏการณ์เอลนิโญในบริเวณดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับภูมิอากาศที่มีลักษณะสูงสุดหรือต่ำสุด-ไม่ว่าจะแห้งแล้งกว่า ฝนตกมากกว่า อบอุ่นกว่า หรือหนาวกว่าปกติ หากเรามีความรู้เกี่ยวกับการกระตุ้นและวงจรชีวิตของปรากฏการณ์เอลนิโญมากขึ้น เราอาจทำนายการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญในอนาคตได้ และสามารถทำให้ผลกระทบทั้งในปัจจุบันและในระยะยาวลดลง การศึกษาวิจัยขอบเขตความเสียหายจากปรากฏการณ์เอลนิโญในอดีตของประเทศต่าง ๆทำให้เราทราบว่าระบบเกษตรกรรมและเศรษฐกิจประเภทใดที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติของภูมิอากาศมากที่สุด และนโยบายใดจะช่วยลดความเสียหายดังกล่าวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ปรากฏการณ์เอลนิโญมีความท้าทายต่อความก้าวหน้าทางวิชาการเป็นอย่างมาก จากผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาโลกดังกล่าว ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกร่วมมือกันศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับธรรมชาติของปรากฏการณ์นี้ อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังและติดตามการเคลื่อนไหวของกระแสน้ำในมหาสมุทรด้วยวิธีการต่างๆ ดังกล่าวก็ยังไม่สามารถเจาะจงได้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญขึ้น ณ เวลาใด เนื่องจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาวะอากาศโลกมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ถึงแม้จะเป็นวงจรธรรมชาติ แต่ก็มีความไม่แน่นอน

el nino 2

การกำหนดนโยบาย
การสูญเสียชีวิต ความเสียหายต่อทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนิโญอาจบรรเทาลงได้ด้วยการวางแผนและนโยบายระดับชาติ และระดับระหว่างประเทศ การที่รัฐบาลต่างๆ ไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายเหล่านี้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่เข้าใจปรากฏการณ์เอลนิโญอย่างถ่องแท้ และไม่สามารถทำนายผลกระทบปรากฏการณ์ที่อยู่นอกเหนือภูมิภาคแปซิฟิกได้ ประเทศที่สามารถทำนายปรากฏการณ์เอลนิโญและผลกระทบของมันได้แม่นยำกว่า ก็มักไม่สามารถพัฒนาและปฏิบัติตามกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อลดผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโญได้ ทั้งนี้เป็นเพราะขาดทรัพยากรหรือความต่อเนื่องทางการเมือง

ความวิปริตของภูมิอากาศมักไม่จำกัดขอบเขตอยู่ในแนวพรมแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง และพยานหลักฐานสำหรับการเชื่อมโยงกว้างไกลของปรากฏการณ์เอลนิโญเน้นให้เห็นถึงปัญหาระหว่างประเทศในลักษณะนี้ ด้วยเหตุนี้องค์การระหว่างประเทศจึงมีบทบาทสำคัญในการประสานงานโครงการวิจัยและแลก เปลี่ยนข่าวสารระหว่างประเทศเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนิโญก่อให้เกิดความตระหนักถึงปรากฏการณ์นี้ในระดับระหว่างประเทศ และช่วยให้ชาติต่างๆ พัฒนากลยุทธ์ตอบโต้โดยต่างชาติต่างทำหรือทำร่วมกัน เช่น องค์กรของสหประชาชาติหลายองค์กรปฏิบัติงานร่วมกันกับคณะมนตรีระหว่างประเทศแห่งสหภาพวิทยาศาสตร์ปฏิบัติตามกลยุทธ์การสำรวจและการตอบโต้ผลกระทบของภูมิอากาศโลก

ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องดำเนินการการประเมินอิทธิพลของภูมิอากาศในระดับชาติหรือระดับนานาชาติเพื่อทำนายผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโญที่น่าจะมีต่อทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อประเมินผลสืบเนื่องทางสังคมและเศรษฐกิจของชาติตน การศึกษาวิจัยในเรื่องนี้จึงน่าจะมีประโยชน์สูงสุดในบรรดาประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ และน่าจะทำให้รัฐบาลต่างๆ สามารถกำหนดนโยบายที่ช่วยลดอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนิโญลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การประเมินผลกระทบเพ่งเล็งที่ภาคเศรษฐกิจซึ่งจะได้รับผลกระทบจากความวิปริตของภูมิอากาศได้โดยง่าย ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ทรัพยากรน้ำ การประมงน้ำเค็ม และป่าไม้ ขอบเขตของการทำลายที่เกิดจากความวิปริตของของภูมิอากาศภายในชุมชนหรือประเทศย่อมแล้วแต่สภาพของสังคมและเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ในเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ การกระจายรายได้ประเภทของเกษตรกรรม การได้มาซึ่งพื้นที่เกษตรกรรมแห่งใหม่และแหล่งรายได้ถัดไป การกระจายของประชากรประเภทของที่อยู่อาศัย การจัดหาสิ่งอำนวยความรื่นรมย์ และอื่นๆ เหล่านี้ต้องรวมอยู่ในการประเมินผลกระทบด้วย เมื่อมีการประเมินผลกระทบแล้ว รัฐบาลก็สามารถกำหนดนโยบายเพื่อลดผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโญได้ ในประเทศที่อยู่ห่างจากมหาสมุทรแปซิฟิก นโยบายเหล่านี้ควรเป็นนโยบายระยะสั้นนำมาปฏิบัติในระหว่างที่มีปรากฏการณ์เอลนิโญเท่านั้น ส่วนในประเทศอื่นๆ การปรับตัวให้เข้ากับปรากฏการณ์เอลนิโญอาจทำให้จำเป็นต้องมีโครงการก่อสร้างอาคารที่ราคาแพง หรือมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำการเกษตรอย่างถาวร การลดผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโญลงได้ หรือแม้กระทั่งจะหาผลประโยชน์จากผลกระทบของปรากฏการณ์นี้ ยังต้องขึ้นอยู่กับการเห็นพ้องต้องกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับผู้จัดทำนโยบายเกี่ยวกับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญกับมาตรการตอบโต้ที่มีประสิทธิผลด้วย ถ้าบุคคลเหล่านี้มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน นโยบายนี้ก็ยากที่จะกำหนดขึ้นได้ การทำนายปรากฏการณ์เอลนิโญก็จะลดคุณค่าลง

ใส่ความเห็น